มาตรการป้องการอุบัติเหตุและโรคในสถานรับเลี้ยงเด็กถนอมพิศเบบี้โฮม


เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะคะว่าเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบภูมิต้านทานโรคยังมีน้อย ป่วยง่ายเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
ยิ่งถ้าต้องมาอยู่เนอสเซอรี่ก็อาจป่วยบ่อยกว่าการเลี้ยงเดี่ยวอยู่กับบ้าน เวลาเด็กไม่สบายเมื่อพาไปพบแพทย์ก็มักจะถามว่าน้องอยู่โรงเรียนหรือเนอสเซอรี่หรือเปล่า ถ้าใช่ก็แม่นแล้ว ติดโรคมาจากเพื่อนที่เนอสเซอรี่แน่ๆ บางครั้งก็จะได้รับคำแนะนำว่าควรเลี้ยงอยู่ที่บ้านจะดีกว่า ไม่เช่นนั้นก็จะวนป่วยอยู่อย่างนี้แหละ แต่ภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมีหลายๆครอบครัวที่ยังจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับเนอสเซอรี่ ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกที่จะฝากน้องไว้ที่ไหนต้องดูเรื่องความสะอาดและปลอดภัยของลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเลือกค่ะ แต่ข้อดีของเด็กเนอสฯก็มีนะคะ คือเด็กได้สร้างภูมิต้านทานด้วยตัวเองจึงสังเกตได้ว่าเด็กที่มาจากเนอสเซอรี่พอถึงวัยอนุบาลก็จะไม่ค่อยป่วยแล้วค่ะ เพราะมีภูมิต้านทานดีขึ้นแล้วแถมมีพัฒนาการและความสามารถในการปรับตัวเข้าสังคมได้ดีกว่าเด็กที่อยู่บ้าน







แต่ทางเนอสเซอรี่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเมื่อมีเด็กป่วยครูเองก็วิตกกังวล ห่วงใยเด็กไม่แพ้คุณพ่อคุณแม่นะคะ เราจึงใส่ใจเต็มที่ในเรื่องความสะอาดและปลอดภัยของเด็ก มีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ยิ่งเมื่อมีข่าวโรคติดต่อต่างๆระบาดในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงครูจะตรวจเด็กอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นขนาดบางช่วงครูถือไฟฉายยืนรอตรวจเด็กตั้งแต่หน้าเนอสเซอรี่โดยตรวจช่องปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเด็กก่อนรับเข้ามาในเนอสฯเลยทีเดียว ถ้าพบรายน่าสงสัยจะได้ให้ผู้ปกครองพาไปให้แพทย์วินิจฉัยก่อน เพื่อป้องกันการนำเชื้อมาแพร่ให้เพื่อนในเนอสเซอรี่ค่ะ เพราะนี่คืออีกหนึ่งตัวชี้วัดมาตรฐานของเนอสเซอรี่ก่อนที่ผู้ปกครองจะตัดสินใจเลือกในการฝากลูกสุดที่รักไว้กับเราค่ะ
การจัดการป้องกันโรคแก่เด็กภายในถนอมพิศเบบี้โฮมมีดังนี้นะคะ
ทุกเช้าก่อนรับเด็กเข้ามาภายในบ้านครูพี่เลี้ยงต้องมาทำความสะอาดเช็ดฝุ่นตั้งแต่ผนัง ชั้นวางของ และพื้น รวมถึงบริเวณที่จับประตู โทรศัพท์ ราวบันไดซึ่งเป็นบริเวณที่มีคนสัมผัสบ่อยและอาจเป็นช่องทางแพร่เชื้อได้ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับเด็ก
ระหว่างวันมีการทำความสะอาดพื้นทันทีที่สกปรกปนเปื้อนเช่น เด็กขับถ่าย อาเจียน และหลังจากเด็กตื่นนอนตอนบ่ายจะทำความสะอาดพื้นอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อความมั่นใจว่าเด็กๆจะได้อยู่ในพื้นที่บริเวณสะอาดตลอดเวลา
มีการแบ่งเขตสะอาดตั้งแต่บริเวณนอกบ้าน ที่ต้องถอดรองเท้าเดินเข้ามาล้างมือที่อ่างก่อนเข้ามาในบ้าน
ผู้ปกครองก่อนจะรับเด็ก เรามีอ่างล้างมือพร้อมสบู่เหลวสำหรับล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมาจากข้างนอกก่อนอุ้มสัมผัสตัวลูก โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลถ้าเป็นไปได้ควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนมารับลูก
เด็กอ่อนจะแยกอยู่บริเวณชั้นสอง ถ้าจะขึ้นไปเยี่ยมชมต้องสวมเสื้อกาวน์ที่เตรียมไว้หน้าบันไดสวมทับเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามา และต้องล้างมือก่อนเข้าห้องเด็กอ่อนทุกครั้ง ภายในห้องเด็กมีแอลกอฮอล์เจลให้ครูพี่เลี้ยงทำความสะอาดมือก่อนอุ้มเด็ก หรือป้อนนม
การรับเด็กอ่อนตอนเช้าครูพี่เลี้ยงแผนกเด็กอ่อนจะรับเด็กด้วยตนเอง เพราะครูแผนกอื่น เสื้อผ้าอาจมีเชื้อโรคจากการที่อุ้ม หรือโอบกอดเด็กโตบางคนที่ป่วย มาก่อนหน้าและอาจแพร่ไปสู้น้องน้อยที่ภูมิต้านทานต่ำกว่าได้
ของเล่นเด็กเล็กที่เด็กบางคนอาจอมของเล่นเข้าปากมีการทำความสะอาดทุกวัน ด้วยน้ำสบู่และผึ่งแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค
ที่นอนเด็กได้รับการผึ่งแดดตอนสายช่วงเด็กอยู่ในสนามเด็กเล่น และหมอนจะผึ่งแดดช่วงบ่ายหลังเด็กตื่นนอนของทุกวัน
ผ้าเช็ดตัวเด็กๆหลังจากอาบน้ำทุกครั้งจะนำออกผึ่งแดดให้แห้งและหอมกลิ่นแดด เพราะเรามีบริเวณเพียงพอและอยู่ในซอยส่วนบุคคลกลางสวนกล้วย ไม่มีฝุ่นละอองและปลอดควันพิษ
ห้องเด็กทุกห้องมีประตูและหน้าต่างโดยรอบได้มาตรฐานตามที่กระทรวงกำหนด ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี
ตั้งแต่ 7.00 - 11.00 น.จะเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และมีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพื่อช่วยให้อากาศในห้องหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้นลดการแพร่กระจายเชื้อโรคทางเดินหายใจ ช่วงเปิดแอร์ตอนเด็กนอนก็มีเครื่องฟอกอากาศ ในห้องนอนเด็ก
มีระบบการจัดการขยะที่ดี มีบ่อพักขยะอยู่นอกรั้วบ้านไม่มีการหมักหมม ส่งกลิ่นเน่าเสียให้ทำลายบรรยากาศ
อาหารเด็กมีการปรุงอย่างสดใหม่ทุกมื้้อ โดยวางแผนรายการอาหารตามหลักโภชนาการ
ครูพี่เลี้ยงได้รับการตรวจสุขภาพและเอ็กเรย์ปอดทุกปีว่าปลอดภัยไม่มีโรคที่อาจติดต่อไปยังเด็กได้ คนเตรียมอาหารให้เด็กก็ได้รับการตรวจว่าปลอดจากไข่พยาธิซึ่งอาจปนเปื้อนสู่เด็กทางอาหารได้
บุคคลากรทุกคนได้รับการอบรมให้มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลกรณีเกิดอุบัติเหตุ และการดูแลเมื่อเด็กป่วย สามารถให้การดูแลได้เด็กเป็นอย่างดีเช่น การป้อนยา การเช็ดตัวลดไข้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาการของโรคต่างๆที่พบบ่อยในเด็ก การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อลดน้ำมูก เป็นต้น เพราะครูนกซึ่งเป็นพยาบาลและเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องนี้ให้กับเนอสเซอรี่ต่างๆได้อบรมให้ความรู้ครูพี่เลี้ยงในถนอมพิศเบบี้โฮมอย่างสม่ำเสมอทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
ครูนกซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพอยู่ประจำที่เนอสเซอรี่ทุกวัน ช่วยดูแลเด็กๆ คอยเป็นที่ปรึกษาของครูพี่เลี้ยงและผู้ปกครองได้ตลอดเวลาค่ะ
มีการตรวจสุขภาพเล็บ ผม ฟัน ผิวหนังเด็กทุกเช้าหลังรับมา และจดลงใบบันทึก หากพบสิ่งผิดปกติหรือน่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคเช่น หัด อีสุกอีใส ก็แจ้งครูนกมาวินิจฉัยและแยกเด็กที่อาการน่าสงสัยไว้ห้องพยาบาลเพื่อรอผู้ปกครองมารับไปพบแพทย์ ระหว่างวันถ้าหากเด็กป่วยที่อาจเป็นโรคติดต่อ ก็จะแยกเด็กและแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ
เด็กป่วยที่มีอาการมากหรือมีไข้ เป็นโรคติดต่อให้หยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เด็กที่มีอาการเล็กน้อยเช่นมีน้ำมูก เวลานอนจะแยกให้นอนห้องนอนพัดลมเพื่อลดการแพร่เชื้อ และทำให้เด็กหายป่วยไวขึ้น
นอกจากนี้เรายังมีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิด ซึ่งติดตั้งทั่วบริเวณทั้งภายในและภายนอกบ้านเพื่อสามารถตรวจสอบการทำงานและควบคุมมาตรฐานการดูแลเด็กในถนอมพิศเบบี้โฮมได้ แต่ทั้งนี้ครูนกไม่ได้ออนไลน์ให้คุณพ่อคุณแม่ดูได้ตลอดเวลาทางอินเตอร์เน็ตนะคะ ด้วยเหตุว่าไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ต้องพะวงไม่เป็นอันทำงาน ครูนกเองจะคอยดูแลเด็กๆและครูพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับชื่อเสียงของโรงเรียนเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกันครูนกก็ไม่อยากให้ครูพี่เลี้ยงทำงานในภาวะที่กดดัน เกร็ง เครียด ไม่มีความสุข ด้วยความกังวลว่ามีผู้ปกครองหลายสิบคนคอยดูตลอดเวลา ถ้าครูเครียดก็จะไม่เป็นผลดีต่อเด็กแน่ๆค่ะ เพราะลำพังสายตาครูนกที่อยู่ประจำเนอสเซอรี่ตลอดทั้งวัน ครูก็ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติกับเด็กอยู่แล้วค่ะ และถ้ามีเหตุการณ์อะไร ติดใจสงสัยเราก็สามารถดูย้อนหลังได้ตลอดค่ะ
ด้วยมาตราการดังที่กล่าวมานี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถนอมพิศเบบี้โฮมของเราได้รับเกียรติบัตร
ยกย่องให้เป็นเนอสเซอรี่ได้มาตราฐานจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ถึงสามปีซ้อน
ขอแถมอีกนิ๊ดนึงค่ะ ...ดูแลอย่างไรให้ลูกป่วยน้อยที่สุด...
เชิญอ่านบทความดีๆ ของ นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์ จากคลินิคเด็ก.คอม ค่ะ....
ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งเกิดมานั้น แม้จะดูแข็งแรง และเติบโตเร็ว แต่ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการได้รับเชื้อโรคต่างๆ ถึงแม้ว่าคุณจะทนุถนอมเขาอย่างมากก็ตาม เขาก็ยังจะมีการเจ็บป่วยได้บ้าง ดังที่คุณพ่อคุณแม่จะเคยได้ยินคุณหมอของลูกพูดอยู่เสมอๆว่า การที่เด็กจะป่วยด้วยอาการหวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หูชั้นกลางอักเสบ ฯลฯ โดยประมาณ 6-8 ครั้ง ต่อปีนั้น เป็นสิ่งปกติของเด็กในวัย 0-3 ขวบปีแรก โดยที่การเจ็บป่วยแต่ละครั้ง ถ้าไม่ใช่เป็นการติดเชื้อที่ร้ายแรงจนเป็นอันตรายต่อลูก ก็จะช่วยฝึกฝนให้ระบบภูมิคุ้มกันของลูกนั้นแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะวิตกกังวล เกี่ยวกับเรื่องของโรคระบาดต่างๆ ที่มีปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี ให้เห็นกันแทบทุกวัน ทำให้เป็นห่วงว่าลูกจะเจ็บป่วยบ่อย จากการที่มีเชื้อโรคต่างๆ เต็มไปหมด จึงอยากทราบว่าจะมีวิธีทำอย่างไรให้ลูกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อยๆ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้คือ
-
ควรเลือกการเลี้ยงนมแม่ในช่วงเวลาที่ลูกยังเป็นทารก ให้ได้นานที่สุดเท่าที่คุณทำได้ (อย่างน้อย 6 เดือน) ส่วนประกอบของน้ำนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก จะมีน้ำนมเข้มข้นสีเหลืองๆ ที่เรียกว่า “โคลอสตรุม” ที่เป็นน้ำนมพิเศษ อันประกอบด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนและยังมีแอนติบอดีย์ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับโรคทั่วๆไป ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเล็กนั้นเจ็บป่วยได้ง่ายนัก แม้ว่าหลังจากโคลอสตรุมจะหมดไปหลังจากนั้น น้ำนมแม่ก็ยังมีคุณสมบัติครบถ้วน และมีข้อดีที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เกิดปัญหาการแพ้นมวัวหรือแพ้นมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยพอควรในทารกที่ดื่มนมผสม สำหรับรายที่คุณแม่มีน้ำนมไม่พอ หรือเลือกที่จะใช้นมผสมเสริม ก็ควรพิจารณาเรื่องปัญหาการแพ้นมวัวด้วย โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติแพ้สิ่งต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะพิจารณาเลือกใช้นมวัวพิเศษสำหรับทารก ที่ทำสำหรับทารกที่แพ้นมวัว ที่เรียกว่า Hypoallergenic,( HA) เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาการแพ้นมวัว
-
พยายามให้ลูกได้รับวัคซีนต่างๆ ตามเกณฑ์อายุ อาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่งของการต่อสู้กับเชื้อโรคที่ร่างกายใช้ คือ ภูมิต้านทาน แต่ภูมิต้านทานต่างๆ ของลูกนั้นไม่ใช่อยู่ๆ จะมีขึ้นมาได้เอง แต่จะต้องเกิดจากการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และร่างกายพยายามสู้กับเชื้อโรคนั้นๆ ถ้าร่างกายแพ้ ก็จะเจ็บป่วยหนัก ต้องการช่วยเหลือโดยการรักษาด้วยยาต่างๆ เช่น ยาปฎิชีวนะ ฯลฯ แต่หลายต่อหลายครั้งที่เชื้อโรคจะสามารถลุกลามในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว หรือ ไม่มียาที่จะใช้รักษาเชื้อร้ายชนิดนั้นๆ จึงจะต้องพึ่งการให้วัคซีน (ถ้ามีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโรคนั้นๆ) ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของคนๆ นั้น มีความสามารถในการต่อสู้และขจัดการติดเชื้อนั้นออกไปจากร่างกาย ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กในปัจจุบันจะไม่เป็นโรคโปลิโอ หรือ โรคคอตีบ เพราะปัจจุบันนี้เด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
วัคซีนพิเศษบางชนิด แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์วัคซีนภาคบังคับของกระทรวงสาธารณสุข เพราะที่กระทรวงประกาศไว้นั้นเป็นแค่วัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ เช่นวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ เอ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ฯลฯ ก็เป็นวัคซีนที่ดี และสามารถป้องกันลูกจากโรคต่างๆ เหล่านี้ได้ จึงควรพิจารณาให้ลูกได้รับวัคซีนเหล่านี้ด้วย โดยการปรึกษากับแพทย์ประจำของลูก
-
อย่าพยายามรักษาลูกเอง ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ในบางครั้งถ้าดูแลไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาการเจ็บป่วยที่ลุกลามได้ และอย่าพยายามกดดันแพทย์ประจำของคุณ ในการใช้ หรือไม่ใช้ยาบางอย่าง เช่น การตัดสินใจใช้ยาปฎิชีวนะ ควรให้การพิจารณาเลือกวิธีการรักษา เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ มากกว่าความรู้สึก อยากหรือไม่อยากใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการดูแลผู้ป่วยนั้นต้องใช้การคิดคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ หลายด้าน เช่น ชนิดของเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุ โอกาสที่เชื้อดื้อยา โอกาสที่เชื้อจะมีการลุกลามเร็ว การแพ้ยา หรือการมีปฎิกริยาไม่พึงประสงค์อื่นๆ รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องนำมาใช้ประกอบในการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับสภาวะการเจ็บป่วยที่ลูกเป็นอยู่
นอกจากนี้ คุณควรจะหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองและโรคต่างๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงอาการ อาการแสดง และแนวทางการรักษา อาจโดยการสอบถามจากแพทย์ผู้ดูแลและหาอ่านเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยให้คุณและลูกมีสุขภาพที่ดีและไม่ค่อยเจ็บป่วยได้เช่นกัน
นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม
